เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส และโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[154] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (3)
คำว่า ตั้งความเพียร เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง อธิบายว่า อมตนิพพาน
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่าประโยชน์อย่างยิ่ง
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตั้งความเพียรเพื่อบรรลุ คือ เพื่อได้ ได้เฉพาะ ถึง
ถูกต้อง ทำให้แจ้งประโยชน์อย่างยิ่ง อยู่ ได้แก่ ลงแรง มีความบากบั่น มั่นคง
เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
รวมความว่า ตั้งความเพียร เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง

ว่าด้วยการตั้งความเพียรเพื่อบรรลุธรรม
คำว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันมิให้เกิดบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม
ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ปลูกฉันทะ
ให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศล
ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่ฟั่นเฟือน เจริญยิ่ง ไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว รวมความว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :487 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิต มุ่งมั่นว่า “เนื้อและเลือดใน
ร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึง
บรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วย
ความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร” แม้อย่าง
นี้ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า
“เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจักไม่เอนกายนอน1”
แม้อย่างนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย”
แม้อย่างนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ลุกจากที่นั่งนี้” แม้อย่างนี้
ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ลงจากที่จงกรมนี้
ไม่ออกจากวิหาร ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว ไม่ออกจากปราสาท ไม่ออก
จากเรือนโล้น ไม่ออกจากถ้ำ ไม่ออกจากที่หลีกเร้น ไม่ออกจากกุฎี ไม่ออกจาก
เรือนยอด ไม่ออกจากป้อม ไม่ออกจากโรงกลม ไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น
ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง ไม่ออกจากมณฑป ไม่ออกจากโคนไม้นี้” แม้อย่างนี้
ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ
สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรมเช้าวันนี้เอง” แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน
ไม่ประพฤติเกียจคร้าน

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร. (แปล) 26/223/374

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :488 }